เอกสารข้อมูลทางเทคนิคของ KAL อธิบายวิธีที่การจำลองเสมือนของระบบปฏิบัติการสามารถช่วยให้ธนาคารรันระบบ Windows 10 บนตู้ ATM โดยไม่ต้องอัปเกรดฮาร์ดแวร์ได้

สรุปการดำเนินการ

ในเดือนมกราคม 2020 การสนับสนุนสำหรับ Windows 7 จะสิ้นสุดและผู้ใช้จะต้องแทนที่ด้วยระบบ Windows 10 การโยกย้ายระบบดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาที่สำคัญสำหรับธนาคารต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการอัปเกรดและความซับซ้อนของการอัปเกรดซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ของระบบ ATM

การเปลี่ยนจาก Windows XP ไปเป็น Windows 7 ในปี 2014 ทำให้อุตสาหกรรมทั่วโลกต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมหลายพันล้านดอลลาร์เนื่องจากการอัปเกรดระบบปฏิบัติการของ ATM รวมถึงการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ ธนาคารต่างๆ เผชิญปัญหาในแบบเดียวกันอีกครั้งเมื่อพวกเขาจำเป็นต้องอัปเกรดเป็น Windows 10

แต่เรามีทางออก: การจำลองเสมือนของระบบปฏิบัติการ วิธีนี้ใช้เทคโนโลยีที่รู้จักในนามของไฮเปอร์ไวเซอร์เพื่อแยกส่วนเมนบอร์ดฮาร์ดแวร์ออกจากระบบปฏิบัติการเพื่อให้ไดรเวอร์ซอฟต์แวร์ที่ไม่รองรับภายใต้ Windows 10 สามารถรองรับโดยซอฟต์แวร์ไฮเปอร์ไวเซอร์แทนได้

เทคโนโลยีไฮเปอร์ไวเซอร์ขจัดความจำเป็นในการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ปัจจุบันเมื่อ ATM ย้ายไปยังรัะบบ Windows 10 ช่วยปกป้องการลงทุนของธนาคารกว่า 20,000 แห่งทั่วโลกในด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ในขณะที่ยังคงมีความสอดคล้องกับข้อกำหนดของ PCI

เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงมีความสำคัญในการย้ายระบบไปสู่ Windows 10 เท่านั้น แต่ยังกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นในการจัดการกับซอฟต์แวร์ Long-Term Servicing Channel (LTSC) ในอนาคตภายใต้ Windows 10 ซึ่งกำหนดให้ต้องแม้กระทั่งอัปเกรดฮาร์ดแวร์บ่อยครั้งมากขึ้น

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมในเอกสารข้อมูลทางเทคนิคนี้

บทนำ

ATM ถือกำเนิดขึ้นมากกว่า 50 ปีมาแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ มาโดยตลอด

ในช่วง 20 ปีแรก สถาปัตยกรรม ATM เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ผลิต ATM พร้อมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มาจากผู้ขายรายเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงครั้งแรกเกิดขึ้นประมาณช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อระบบ OS2 ของ IBM เข้ามาสู่วงการในฐานะระบบปฏิบัติการสำหรับ ATM เป็นการเปิดโลกของกล่องดำ ATM เล็กน้อยด้วยการใช้ระบบปฏิบัติการมาตรฐาน จากนั้นระบบ Windows ค่อยๆ เข้ามาแทนระบบ OS2 กลายเป็นสภาพแวดล้อมการทำงานมาตรฐานด้วย Windows NT ตัวแรก ตามด้วย Windows 2000, Windows XP, Windows 7 และปัจจุบัน Windows 10 ระบบ ATM ของธนาคารส่วนใหญ่ของโลกทำงานด้วยระบบ Windows ในปัจจุบัน

การเปลี่ยนแปลงครั้งที่สองเริ่มต้นในช่วงประมาณทศวรรษปี 2000 ด้วยการนำมาตรฐาน XFS มาใช้ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เฉพาะด้านทั้งหมดภายใน ATM เช่น เครื่องจ่ายเงินสดและเครื่องอ่านบัตร เริ่มมีไดรเวอร์ซอฟต์แวร์มาตรฐานที่สร้างบนมาตรฐาน CEN XFS จุดนี้ทำให้เกิดยุคของซอฟต์แวร์สำหรับฮาร์ดแวร์จากหลายผู้ผลิตที่แยกซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันออกจากฮาร์ดแวร์

มาถึงตอนนี้เรากำลังเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง นั่นคือการจำลองเสมือนของระบบปฏิบัติการและการแก้ปัญหาหลักสำหรับอุตสาหกรรม

จนถึงปัจจุบัน ทุกครั้งที่จำเป็นต้องอัปเกรดระบบปฏิบัติการของ ATM (เช่น จาก Windows XP เป็น Windows 7 ในปี 2014) ก็จำเป็นต้องอัปเกรดฮาร์ดแวร์ด้วย อุตสาหกรรมทั่วโลกต้องเสียค่าใช้จ่ายรวมมหาศาล การอัปเกรดระบบ ATM กว่า 3.5 ล้านเครื่องทั่วโลกมีค่าใช้จ่ายรวมหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เมื่อการอัปเกรดรอบใหม่มาถึงอีกครั้งในปี 2020 ที่มีการหยุดสนับสนุน Windows 7 และจะต้องเปลี่ยนแทนด้วย Windows 10 ไม่น่าประหลาดใจที่บรรดาธนาคารต่างพากันหยุดชะงักในการใช้จ่ายหลายพันล้านดอลลาร์เพื่ออัปเกรดระบบ ATM อีกครั้ง

ปัญหาในการอัปเกรด

ปี 2014 เป็นปีที่เลวร้ายสำหรับบรรดาธนาคารที่รันระบบ ATM เมื่อ Microsoft หยุดการสนับสนุน XP ก็ค่อยๆ ชัดเจนว่าธนาคารมีทางเลือกไม่มากนักซึ่งจำเป็นต้องอัปเกรด ATM ของพวกเขาเป็นระบบ Windows 7

สำหรับ Microsoft แล้ว อุตสาหกรรม ATM มีขนาดเล็กมาก ตู้ ATM ประมาณสามล้านเครื่องทั่วโลกเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับเครื่อง PC มากกว่าสองพันล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ระบบ Windows ผู้ใช้ PC มักจะมีตัวเลือกสำหรับการชะลอการอัปเกรด PC ของพวกเขาหรือซื้อการอัปเกรดเมนบอร์ดที่มีราคาประหยัดได้ ซึ่งตัวเลือกเหล่านี้ไม่มีให้สำหรับธนาคารเพื่อ ATM ของพวกเขา การอัปเกรดเมนบอร์ดของ ATM มีค่าใช้จ่ายสูง อาจสูงถึง 4000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเครื่องสำหรับปริมาณเครื่องที่น้อย รวมถึงอาจรวมค่าใช้จ่ายอีก 1000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในการส่งช่างเทคนิคที่ผ่านการฝึกอบรมเพื่อดำเนินการอัปเกรดที่ตู้ ATM ตามสถานที่ตั้งทั่วประเทศ

เนื่องจากธนาคารต่างๆ ใช้ตู้ ATM มานานอย่างน้อย 10 ปี และตู้ส่วนใหญ่เป็นรุ่นเก่าซึ่งไม่สามารถแม้แต่จะอัปเกรดได้และจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ตู้ ATM ตู้ใหม่อาจมีราคาระหว่าง 10,000 และ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเครื่องขึ้นอยู่กับความสามารถการทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแทนตู้เก่า ซึ่งอาจสูงเกินไปสำหรับตู้ ATM ที่ “ฝังทะลุผนังร้านค้า” ในสถานที่คับคั่ง เช่น ใจกลางกรุงปารีส กรุงลอนดอน หรือมหานครนิวนอร์ก การอัปเกรดระบบปฏิบัติการ ATM ไม่ได้นำประโยชน์โดยตรงให้แก่ลูกค้าแต่ทำให้ธนาคารสูญเสียค่าใช้จ่ายมหาศาลเพื่อความสอดคล้องตามข้อกำหนด

ATM อยู่ภายใต้ข้อกำหนดของหน่วยงานควบคุมโดยเฉพาะ PCI ที่ยืนยันว่าต้องไม่มีซอฟต์แวร์ที่ไม่รองรับในสายโซ่ของส่วนประกอบซอฟต์แวร์ที่จำเป็นในการทำงานของระบบ ATM ธนาคารในเอเชียหลายแห่งได้เพิกเฉยต่อความเสี่ยงดังกล่าว ธนาคารจากอเมริกาและยุโรปค่อนข้างทำได้ถูกต้องโดยไม่ได้ไปตามเส้นทางนั้นและได้อัปเกรดเครือข่าย ATM ของพวกเขา แต่ธนาคารหลายแห่งประกาศว่าจะต้องหยุดวงจรการอัปเกรดให้ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปี 2020 บรรดาธนาคารพบว่าตัวเองต้องตกอยูในสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกอีกครั้ง Microsoft หยุดการสนับสนุนระบบ Windows 7 และธนาคารจะต้องอัปเกรดเครือข่าย ATM ของพวกเขาเป็นระบบ Windows 10

ในความเป็นจริง สิ่งต่างๆ อาจแม้กระทั่งแย่ลงหลังจาก Windows 10 Microsoft ได้ประกาศว่า W10 จะเป็น Windows “ตัวสุดท้าย” จะไม่มี Windows 11 หรือ Windows 12 อีกต่อไป นี่หมายถึงสถานการณ์ที่ยากลำบากในการอัปเกรดจะหายไปหลังจาก Windows 10 ใช่หรือไม่ มีบทความในหนังสือพิมพ์มากมายกล่าวอ้างว่าการอัปเกรดมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว แต่โชคร้ายที่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม

กลยุทธ์ใหม่สำหรับ Windows คือการเผยแพร่รุ่นอัปเกรดระบบปฏิบัติการและเพิ่มขีดความสามารถที่บ่อยขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา การอัปเกรดหลักจะมาในรูปแบบของแพคเกจ “LTSC” — “Long-Term Servicing Channel” Microsoft วางแผนที่จะเผยแพร่ LTSC ทุกสามปีในอนาคต นี่หมายความว่าเราจำเป็นต้องอัปเกรดฮาร์ดแวร์ ATM ทุกสามปีใช่หรือไม่ คำตอบสั้นๆ คืออาจจะใช่!

เราไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร

บริษัทหลายแห่งตำหนิ Microsoft ว่ามีการอัปเดตซอฟต์แวร์บ่อยเกินไปหรือไม่สนับสนุนระบบปฏิบัติการอย่างยาวนานเพียงพอ แต่พิจารณาการชี้นำของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลกเป็นหลัก

หลักการของ DevOps และความก้าวหน้าในการทดสอบแบบอัตโนมัติจะช่วยให้รอบการเผยแพร่ซอฟต์แวร์มีระยะเวลาสั้นลงทุกครั้ง อันที่จริงแล้ว การเผยแพร่ทุกวันไม่ใช่เรื่องผิดปกติในบางส่วนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ดังนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า Microsoft ไม่สามารถยึดติดอยู่กับรอบการอัปเดต 7 ปีสำหรับ Windows ในความเป็นจริงแชนเนล LTSC ของ W10 ที่แนะนำสำหรับ ATM จะเป็นวงจรที่ช้าที่สุดของ Microsoft สำหรับการเผยแพร่ Windows ใหม่ โดยทั่วไปเวอร์ชัน Windows สำหรับธุรกิจคือ SAC (Semi-Annual Channel) ซึ่งจะอัปเดตได้เร็วขึ้นมาก (ทุกหกเดือน) และ Microsoft บังคับให้ต้องใช้งานการอัปเดตเหล่านั้น ดังนั้น SAC จึงดูจะไม่เหมาะสำหรับ ATM

รอบการอัปเกรดที่เร็วขึ้นก่อให้เกิดความเครียดอย่างมากในระบบนิเวศ Wintel แม้ว่า Microsoft จะให้การยืนยันว่าจะสนับสนุนฮาร์ดแวร์เก่าพร้อมกับการอัปเดตระบบปฏิบัติการใหม่ก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วมันตรงกันข้าม ผู้ผลิตส่วนประกอบฮาร์ดแวร์มีความสนใจในการอัปเดตไดรเวอร์ซอฟต์แวร์รุ่นเก่าของตนเล็กน้อยเพื่อให้สนับสนุนเวอร์ชันใหม่ของ Windows ที่เผยแพร่หลังจากที่พวกเขาเพิ่งเสร็จสิ้นการพัฒนาไดรเวอร์ใหม่ของพวกเขา (Microsoft ก็มีการกระทำที่ไม่แตกต่างกันในลักษณะนี้ — พวกเขาก็จะไม่สนับสนุนฮาร์ดแวร์ใหม่ ด้วยระบบปฏิบัติการเก่า เช่นกัน)

สิ่งนี้ทำให้เกิดปัญหาการสนับสนุนที่มาพร้อมกับการอัปเกรดระบบปฏิบัติการ ไดรเวอร์ซอฟต์แวร์ เช่น ไดรเวอร์ชิปเซ็ตของ Intel รองรับเฉพาะเวอร์ชันระบบปฏิบัติการที่มีอยู่ในช่วงเวลาการเผยแพร่ชิปเซ็ต ไม่ใช่ระบบปฏิบัติการใหม่ที่อาจเผยแพร่หลังจากมีการพัฒนาไดรเวอร์ชิปเซ็ตสำเร็จ

Intel ประกาศว่าชิปเซ็ตแต่ละรุ่นของพวกเขาจะสนับสนุน LTSC ได้สูงสุดสองรุ่น ซึ่งจะไปจำกัดอายุการใช้งานของฮาร์ดแวร์ ATM โดยขึ้นอยู่กับความถี่ในการเผยแพร่ LTSC ใหม่จาก Microsoft อันที่จริงแล้ว ตอนที่ Microsoft ได้ประกาศเผยแพร่ Windows 10 LTSC นั้น แผนก็คือจะมีการเผยแพร่ LTSC ใหม่ทุก 12–18 เดือน ในขณะที่ Intel ประกาศว่าพวกเขาจะให้การสนับสนุน LTSC หนึ่งรุ่นต่อชิปเซ็ตหนึ่งรุ่นเท่านั้น นโยบายนี้ดูเหมือนจะเปลี่ยนไปเมื่อ Microsoft ได้กำหนดรอบการเผยแพร่ใหม่ของ LTSC เป็นทุกสามปี และ Intel ก็เห็นพ้องที่จะสนับสนุน LTSC สองรุ่นต่อชิปเซ็ตหนึ่งรุ่นของพวกเขา LTSC ที่เผยแพร่ในปัจจุบันคือ “1507, 1607, 1809 และ 19H1” ซึ่งตั้งชื่ออิงตามวันที่เผยแพร่ของ Microsoft นั่นคือ ก.ค. 2015, ก.ค.y 2016, ก.ย. 2018 และ H1 2019 ดั้งนั้น LTSC จะเผยแพร่เร็วกว่าที่กำหนดไว้ในอนาคตทุกสามปี

ตามที่คุณมองเห็น สถานการณ์ดังกล่าวเป็นปัญหาหลักสำหรับอุตสาหกรรม ATM รอบการอัปเกรดในอันาคตดูเหมือนว่าอาจเป็นทุกหกเดือน แต่ก็อาจเป็น 12 เดือนโดยขึ้นอยู่กับลักษณะของ LTSC และการสนับสนุนที่จะปรับปรุงในอนาคต สาเหตุแท้จริงก็คือรอบการเผยแพร่ซอฟต์แวร์ใหม่ที่เร็วขึ้น ทำให้ไม่มีผู้ผลิตฮาร์ดแวร์รายใดในห่วงโซ่การสนับสนุนที่ต้องการสนับสนุนระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ด้วยส่วนประกอบฮาร์ดแวร์และไดรเวอร์เก่าของพวกเขา พวกเขาไม่ต้องการเปิดวงจรการพัฒนาใหม่ของไดรเวอร์ซอฟต์แวร์เก่าเพื่อผสานรวมเข้ากับระบบปฏิบัติการเวอร์ชันใหม่ในอนาคต

ในสถานการณ์ที่ตัดสินใจยากลำบาก

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรม ATM มีตัวเลือกไม่กี่ตัวเลือก ธนาคารส่วนใหญ่ใช้งานตู้ ATM ยาวนานกว่า 10 ปีและมีหลายแห่งที่ใช้งานตู้ ATM นานกว่านั้น ในความเป็นจริงการบำรุงรักษาฮาร์ดแวร์ ATM จะคล้ายคลึงกับการบำรุงรักษาอากาศยานมากกว่าการบำรุงรักษาเครื่อง PC อากาศยานหนึ่งลำอาจใช้มานานหลายทศวรรษ แต่ในช่วงระหว่างนั้นอาจมีส่วนประกอบฮาร์ดแวร์หลายชิ้นถูกเปลี่ยนหลายครั้ง และบางทีอาจมีเพียงโครงอากาศยานชิ้นเดียวที่มีอายุ 30 ปีจริงๆ

ในทำนองเดียวกัน ตู้ ATM ที่มีอายุถึง 15 ปีก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งสำหรับเครื่องอ่านบัตร เครื่องจ่ายเงินสด และบางทีแกนหลักของ PC ด้วยภายใต้อายุการใช้งานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยุ่งยากเล็กน้อยก็คือระบบปฏิบัติการ ถ้าจะต้องเปลี่ยนระบบปฏิบัติการเป็นประจำตามการเผยแพร่อัปเดตของ Microsoft ก็จะต้องอัปเกรดเมนบอร์ดพร้อมกับระบบปฏิบัติการด้วย ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงมากสำหรับธนาคาร ทางเลือกคือการใช้ระบบปฏิบัติการที่ไม่รองรับแล้วและจะมีความเสี่ยงของความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดของ PCI พร้อมกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูงมาก เช่น มัลแวร์ (และการกระจายข่าวร้ายที่มาพร้อมกับการถูกละเมิดระบบความปลอดภัย)

มีทางออกทางอื่นหรือไม่ KAL ได้มุ่งเน้นกับปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2014 ได้ประเมินตัวเลือกต่างๆ พยายามทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริง และประเมินทางออกที่อาจนำไปสู่โซลูชันระยะยาวได้

การค้นหาทางออก

ระบบ ATM ที่อัปเกรดได้ใช่หรือไม่ ไม่ใช่

ตัวเลือกที่เราพิจารณาคือสามารถออกแบบแกนหลักของ PC ในระบบ ATM ให้เป็นแบบ “อัปเกรดได้” ได้หรือไม่

ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่การอัปเกรดแกนหลักของ PC ที่ทำได้ง่ายเหมือนกับเปลี่ยนแผ่น DVD ในเครื่องเล่น DVD ในความเป็นจริง Intel ได้สนับสนุนหลักการประเภทนี้ด้วย “การ์ดประมวลผล” ของพวกเขา แกนหลักของ PC มีขนาดเท่ากับบัตรเครดิตที่สามารถถอดเปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม การดำเนินการตามหลักการนี้อาจจำเป็นต้องออกแบบระบบ ATM ใหม่ทั้งหมดทั่วโลกและยังคงจำเป็นต้องเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ที่มีค่าใช้จ่ายสูงอีกด้วย

ไม่ต้องอัปเกรดเลยใช่หรือไม่ ไม่ใช่

ปัจจุบันยังมีเครื่อง ATM จำนวนมากพอสมควรที่ยังคงใช้ระบบ Windows XP สำหรับธนาคารในเอเชียบางแห่ง ตัวเลือกนี้ไม่ได้อัปเกรดระบบปฏิบัติการและยังใช้งาน Windows XP ต่อไปบนตู้ ATM นั้นเป็นกลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ใช่แค่ความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดของ PCI จากระบบปฏิบัติการที่ไม่สนับสนุนแล้วเท่านั้น ยังรวมถึงทำให้ธนาคารและลูกค้ามีความเสี่ยงที่จะได้รับมัลแวร์และการโจมตีทางไซเบอร์ เนื่องจากกลุ่มอาชญากรสามารถหาประโยชน์จากช่องโหว่ในระบบปฏิบัติการที่ไม่สนับสนุนแล้ว สิ่งนี้ไม่ควรพิจารณาเป็นตัวเลือกที่จริงจัง

อย่างไรก็ตาม ยังมีทางเลือกอื่นคือ “ไม่อัปเกรด” ระบบ ATM ที่อาจยังทำงานได้ในอนาคตกับ Windows 10 และ LTSC ที่เผยแพร่ต่อจากนั้น

มาจินตนาการว่าธนาคารได้อัปเกรดระบบ ATM เป็น Windows 10 ที่จำเป็นตั้งแต่แรก เวอร์ชันของ Windows 10 ในปี 2019 เรียกว่า Windows 10 LTSC 1809 และทำงานร่วมกับชิปเซ็ตที่สนับสนุน LTSC รุ่นดังกล่าว Microsoft, Intel และอุตสากรรม ATM จะให้การสนับสนุนการจับคู่ฮาร์ดแวร์เหล่านี้ยาวนานถึง 10 ปี ลักษณะดังกล่าวนี้อาจแก้ปัญหาสถานการณ์ยากลำบากในการอัปเกรดได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ ลองมาพิจารณาที่:

  • LTSC รุ่นใหม่ของ Windows 10 เมื่อนำมาใช้แล้วไม่สามารถทำงานบนตู้ ATM รุ่นปี 2019 ได้ นั่นคือในช่วงอายุการใช้งาน 10 ปี ตู้ ATM อาจจำเป็นต้องรันบน LTSC รุ่นดั้งเดิม
  • ตอนนี้มาพิจารณาที่รอบการเปลี่ยนตู้ ATM ใหม่ประจำปี ตัวอย่างเช่น ธนาคารขนาดใหญ่แห่งหนึ่งประกาศว่าจะเปลี่ยนตู้ ATM ใหม่จำนวน 10% ต่อปีตามอายุการใช้งานจากตู้ทั้งหมด 10,000 เครื่อง แต่ละปีธนาคารอาจต้องซื้อตู้ ATM ใหม่จำนวน 1000 ตู้ที่จะต้องส่งมอบพร้อมกับ LTSC รุ่นล่าสุดจาก Microsoft และชิปเซ็ตรุ่นปัจจุบันจาก Intel ตัวอย่างเช่น ในปี 2023 พวกเขาจะได้รับ LTSC รุ่น 23XX ในขณะที่ตู้ ATM ใหม่เหล่านี้จะทำงานบน LTSC รุ่น 23XX ส่วนตู้ ATM เก่าที่เปลี่ยนแปลงในปี 2019 สามารถทำงานกับ LTSC รุ่น 1809 เท่านั้น หลังจาก 10 ปี เครือข่าย ATM อาจมีการจับคู่ของ LTSC และชิปเซ็ตรวมกันกว่า 10 แบบที่ทำงานบนระบบปฏิบัติการต่างเวอร์ชันกันและมีความสามารถที่แตกต่างกัน
  • แม้ว่าตู้ ATM แต่ละเครื่องจะรองรับสแต็กซอฟต์แวร์ยาวนานกว่า 10 ปี อาจเป็นเพราะไม่ได้อัปเกรดระบบปฏิบัติการเมื่อมี LTSC ใหม่เผยแพร่ ส่งผลให้เป็นเครือข่ายที่ไม่เป็นหนึ่งเดียวที่มีระบบปฏิบัติการหลายเวอร์ชันในเครือข่ายเดียว นี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจเท่าไหร่สำหรับธนาคารส่วนใหญ่

เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การสนับสนุนของ Intel สำหรับระบบ ATM ดีหรือไม่ ไม่ใช่

Aravinda Korala, CEO ของ KAL และ Mike Lee, CEO ของ ATMIA ได้เข้าร่วมในการสนทนาแบบชุดกับ Intel เพื่อทำความเข้าใจว่าควรจะพิจารณาแบบแผนการสนับสนุนพิเศษสำหรับไดรเวอร์ชิปเซ็ตสำหรับอุตสาหกรรม ATM หรือไม่

การสนทนานี้จัดขึ้นโดย Oania Wei และ Alec Gefrides ผู้จัดการทั่วไป ส่วนค้าปลีกเชิงธุรกรรมของ Intel เราได้สำรวจดูหลักการหลายอย่าง เช่น การสนุบสนุนระยะยาวพิเศษแบบมีค่าใช้จ่ายสำหรับไดรเวอร์ Intel สำหรับอุตสาหกรรม ATM และการให้ใบอนุญาตใช้ซอร์สโค้ดของไดรเวอร์เก่าแก่สมาคม ATMIA สุดท้าย ผลปรากฎชัดเจนว่าสำหรับ Intel แล้ว อุตสาหกรรม ATM มีขนาดเล็กเกินไป ซึ่งไม่มีตัวเลือกใดที่เรานำเสนอขึ้นมาจะนำไปใช้จริงได้ อย่างไรก็ตาม Intel กล่าวว่า “ลองพิจารณา Linux อีกครั้ง” และแนะนำให้ KAL รู้จักกับ Wind River บริษัทกระจายระบบ Linux ที่ในตอนนั้นเป็นบริษัทสาขาหนึ่งของ Intel ด้วย

ย้ายระบบ ATM ไปยังระบบ Linux ดีหรือไม่ ไม่ใช่

Linux เป็นทางเลือกสำหรับระบบตู้ ATM มาเป็นเวลานานแล้ว มีกรณีการใช้งานที่ประสบผลสำเร็จสำหรับการรัน ATM บน Linux ในประเทศบราซิลโดยใช้ตู้ ATM ที่ผลิตในบราซิลอย่างเดียว

อุตสาหกรรม ATM ทั่วโลกเป็นตลาดที่มีขนาดเล็กรวมแล้วทีเครื่อง ATM เพียง 3.5 ล้านเครื่องทั่วโลก การให้การสนับสนุนในตลาดขนาดเล็กที่ใช้ทั้งระบบ Linux และ Windows นั้น ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์สำหรับผู้ขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ พิจารณาข้อเท็จจริงที่ว่าทั่วโลกมีธนาคารรวมกันประมาณ 20,000 แห่ง การตัดสินใจเลือกระบบปฏิบัติการที่จะใช้บน ATM นั้นโดยพื้นฐานแล้วจะทำโดยธนาคารไม่ใช่ผู้ขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ธนาคารจะไม่ยอมรับระบบปฏิบัติการที่พวกเขาไม่ได้มีนโยบายที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายภายในของพวกเขาในขณะนั้น

จะต้องใช้เวลานานเท่าใดเพื่อโน้มน้าวให้ธนาคารทั้ง 20,000 แห่งมายอมรับ Linux เป็นระบบปฏิบัติการบน ATM ของพวกเขา คุณสามารถดาดเดาคำตอบได้ กรณีทางธุรกิจใดๆ สำหรับการย้ายระบบไปสู่สแต็กซอฟต์แวร์ Linux โดยสมบูรณ์นั้นต้องใช้ความพยายามต่อสู้พร้อมกับระยะเวลาที่ยาวนานของการสร้างตลาด ผลสรุปของความพยายามดังกล่าวคือไม่มีผู้ผลิต ATM รายสำคัญรายใดต้องการลงทุนในการสนับสนุนทั้งระบบ Linux และ Windows บนเครื่อง ATM ของพวกเขาภายในช่วงการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากไดรเวอร์ XFS ควบคุมโดยผู้ผลิต ถ้าไดรเวอร์เหล่านี้ไม่ได้เชื่อมต่อกับ Linux ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ใดๆ ก็จะไม่สามารถรันแอปพลิเคชัน Linux บน ATM ได้ ไม่ว่าผู้ผลิตซอฟต์แวร์จะมีเงินทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากเท่าใดก็ตาม

ทำไมจึงต้องพิจารณา Linux อย่างเดียว Linux เป็นหนึ่งในฟีเจอร์ที่มีประโยชน์โดยเฉพาะในการแก้ปัญหาการหยุดชะงักด้านการสนับสนุน ไดรเวอร์ซอฟต์แวร์ Linux ทั้งหมดรวมถึงไดรเวอร์ชิปเซ็ตของ Intel เป็นระบบโอเพนซอร์สภายใต้ Linux ซึ่งหมายความว่าบริษัทต่างๆ เช่น Wind River และ Red Hat จากระบบนิเวศ Linux สามารถเข้าถึงซอร์สโค้ดดังกล่าวและสามารถให้การสนับสนุนในเชิงพาณิชย์ได้ ลักษณะนี้สามารถแก้ปัญหาความสอดคล้อง PCI สำหรับธนาคารได้

แต่ยังคงมีสถานการณ์ที่ยากลำบากในแง่ค่าใช้จ่ายในการย้ายระบบของซอฟต์แวร์เครื่อง ATM ทั่วโลกของธนาคารหลายพันแห่งจากระบบ Windows เป็นระบบ Linux

ทางออก — ช่วงเวลาแห่งการค้นพบ

แม้ว่า Linux จะแก้ปัญหาการสนับสนุนซอฟต์แวร์ระยะยาวได้ แต่มีข้อด้อยที่ใหญ่มากเมื่อเปรียบเทียบกับระบบ Windows ที่ธนาคารนั้นได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์กับซอฟต์แวร์ ATM ที่รันบน Windows ต้นทุนการย้ายระบบนั้นคิดเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล

นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางเทคนิคที่ต้องจัดการนอกเหนือจากปัญหาทางการเงิน ATM มีไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์ที่ใช้มาตรฐาน XFS ที่นำไปใช้บนระบบ Windows เท่านั้น แม้ว่าธนาคารต้องการย้ายสแต็กซอฟต์แวร์ของพวกเขาไปยัง Linux แต่อาจไม่สามารถทำได้เว้นแต่ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ก็ต้องการย้ายไดรเวอร์ XFS ของพวกเขาไปยัง Linux เช่นกัน ปัจจุบัน ไม่มีไดรเวอร์สำหรับ ATM จากผู้ผลิตรายหลักที่ทำงานบน Linux

มีหนทางในการผนวกรวมข้อดีของ Linux และ Windows หรือไม่

KAL ทำงานกับปัญหานี้กับ Wind River ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2017 เป็นต้นมา ทีมจาก KAL มีผู้นำทีมโดย Aravinda Korala และ Kit Patterson และทีมจาก Wind River มีหัวหน้าทีมโดย Kevin Konkos และ Davide Ricci คำตอบที่ได้คือการใช้ไฮเปอร์ไวเซอร์ Linux เพื่อโฮสต์ระบบ Windows 10

Linux สนับสนุนเทคโนโลยีไฮเปอร์ไวเซอร์ที่เรียกว่า QEMU QEMU ทำงานร่วมกับ KVM เพื่อใช้ประโยชน์จากการเร่งฮาร์ดแวร์ในการจำลองเสมือนที่รองรับใน Linux และสามารถแสดงอินเทอร์เฟซเพื่อให้ Windows 10 ทำงานเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นแขกบน Linux ไดรเวอร์ฮาร์ดแวร์สำหรับเมนบอร์ดจะมาจากเคอร์เนล Linux แต่สภาพแวดล้อมของแอปพลิเคชันจะทำงานภายใต้ระบบ Windows การสนับสนุนสำหรับไดรเวอรฺ QEMU, KVM และ Linux มาจากชุมชนและบริษัทในระบบนิเวศ Linux อย่างเช่น Red Hat และ Wind River ดังนั้นในส่วนของ Linux จึงสามารถให้การสนับสนุนตามระยะเวลาที่ต้องการตามที่กำหนดโดยเงื่อนไขเชิงพาณิชย์สำหรับบริษัทในระบบนิเวศ Linux

Windows สามารถทำงานบนระบบ Linux และสามารถอัปเดตได้บ่อยตามที่ Microsoft และธนาคารต้องการอัปเดต และนอกจากนี้ยังสามารถจัดการจากระยะไกลทางออนไลน์โดยไม่ต้องส่งช่างเทคนิคไปจัดการที่ตู้ ATM สิ่งเหล่านี้แก้ปัญหาของการอัปเกรดได้ ซึ่งช่วยขจัดความจำเป็นในการอัปเกรดฮาร์ดแวร์อย่างเลี่ยงไม่ได้อันเนื่องมาจากการอัปเกรด Windows หรือ LTSC และธนาคารยังสามารถใช้ซอฟต์แวร์ทั้งหมดในเวอร์ชันที่อัปเดตและล่าสุดได้ เป็นการให้ความอิสระเสรีจากการถูกบังคับให้ต้องอัปเกรดฮาร์ดแวร์อย่างแท้จริง

วิธีการทำงานเป็นอย่างไร

ไฮเปอร์ไวเซอร์และการจำลองเสมือนคืออะไร

การจำลองเสมือนไม่ใช่หลักการใหม่ IBM เป็นรายแรกที่ได้สร้างเครื่องเสมือนและสภาพแวดล้อมการจำลองเสมือนบนเมนเฟรมตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 ปัจจุบันการจำลองเสมือนมีใช้กันในศูนย์ข้อมูลเกือบทุกแห่งทั่วโลก

ไฮเปอร์ไวเซอร์อนุญาตให้หลายระบบปฏิบัติการทำงานบนเซิร์ฟเวอร์ฮาร์ดแวร์ตัวเดียวกันได้ หนึ่งในไฮเปอร์ไวเซอร์ที่รู้จักกันดีคือไฮเปอร์ไวเซอร์ VMware ศูนย์ข้อมูลทั่วโลกใช้ไฮเปอร์ไวเซอร์จาก VMware, Red Hat ฯลฯ เพื่อแยกส่วนฮาร์ดแวร์ออกจากสภาพแวดล้อมการทำงาน

ตัวอย่างเช่น คุณสามารถทำงานระบบ Windows XP และ Windows 7 พร้อมกันในฐานะระบบปฏิบัติการที่เป็นแขกบนระบบปฏิบัติการโฮสต์บน VMware ได้ นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมและจัดการเซิร์ฟเวอร์จากระยะไกลโดยผ่านไฮเปอร์ไวเซอร์ได้ ผู้ควบคุมสามารถหยุดการทำงานของระบบที่เส้นทางใดๆ ก็ได้ ย้ายไปยังเซิร์ฟเวอร์ฮาร์ดแวร์ใหม่ และเริ่มต้นใหม่จากจุดที่ออกไปราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นในระหว่างช่วงที่ผ่านมา

การจำลองเสมือนของฮาร์ดแวร์จาก Intel และ AMD

ไฮเปอร์ไวเซอร์ซอฟต์แวร์พึ่งพาความสามารถของฮาร์ดแวร์จาก Intel และ AMD เพื่อการทำงาน

ในช่วงแรกๆ การจำลองเสมือนเป็นเทคนิคบนซอฟต์แวร์อย่างเดียว ซึ่งจะใช้การจำลองแบบซอฟต์แวร์เพื่ออนุญาตให้ระบบปฏิบัติการที่เป็นแขกสามารถทำงานบนระบบปฏิบัติการที่เป็นโฮสต์ได้ แต่ความพยายามในการจำลองแบบและการแปลคำสั่งเข้าถึงฮาร์ดแวร์จากระบบปฏิบัติการตัวหนึ่งไปยังอีกตัวนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงและทำงานช้าพอสมควร

ประมาณปี 2005, Intel และ AMD ได้สร้างการสนับสนุนระบบการจำลองเสมือนฮาร์ดแวร์ลงใน CPU รุ่นใหม่ของพวกเขา เทคโนโลยีเหล่านี้ได้แก่ Intel VT-x และ AMD-V จะอนุญาตให้ระบบปฏิบัติการที่เป็นแขกสามารถทำงานได้โดยใช้ CPU ของระบบ แต่เป็นการเรียกใช้ระบบแคชเพื่อให้สามารถประมวลผลโดยระบบปฏิบัติการที่ถูกต้อง ผลสรุปก็คือแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์ในระบบปฏิบัติการที่เป็นแขกจะทำงานได้ราวกับว่ามี CPU ทั้งหมดในตัวเองโดยไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะการทำงานอย่างชัดเจน

ในการทดสอบของ KAL ผลกระทบด้านประสิทธิภาพถูกวัดออกมาพบว่าลดลงเพียง 2% สำหรับระบบ ATM จำลองเสมือนที่ทำงานบนทั้งระบบ Windows และ Linux เมื่อเปรียบเทียบกับการทำงานบนระบบ Windows อย่างเดียวบนฮาร์ดแวร์เดียวกันโดยไม่มีการจำลองเสมือน นี่คือความมหัศจรรย์อย่างแท้จริง

แผนภาพด้านล่างแสดงลักษณะของสถาปัตยกรรมซอฟต์แวร์ ATM แบบใหม่ภายใน ATM ที่ใช้เทคโนโลยีการจำลองเสมือนของระบบปฏิบัติการ

 

osv diagram

 

ไฮเปอร์ไวเซอร์ทำงานบนแกนหลักของ PC ที่เป็นโลหะอย่างเดียว ระบบ Windows 10 ทำงานเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นแขกบนไฮเปอร์ไวเซอร์ และแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์พร้อมกับ XFS SP จากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ทำงานจากข้างในเครื่องเสมือนของ Windows

ระบบ ATM ที่มีการจำลองเสมือนมีลักษณะเป็นอย่างไร

แต่ที่ระดับหลักการ โซลูชันซอฟต์แวร์ที่จำลองเสมือนมีลักษณะเหมือนกับสแต็กซอฟต์แวร์ในยุคปัจจุบัน แต่มีการเพิ่มไฮเปอร์ไวเซอร์ระหว่าง Windows และฮาร์ดแวร์เข้าไป ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำโซลูชันจริงไปใช้งาน มาเริ่มต้นด้วยข้อกำหนดเบื้องต้น

ข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับระบบ ATM ที่มีการจำลองเสมือน

แม้ว่าไฮเปอร์ไวเซอร์สามารถทำงานบน ATM ที่ไม่ได้มีฮาร์ดแวร์ในตัวที่รองรับการจำลองเสมือนโดยใช้การจำลองแบบซอฟต์แวร์ อาจเป็นไปได้ว่าจะทำงานช้าในระบบใช้งานจริง ต่อไปนี้เป็นข้อกำหนดเบื้องต้นสำหรับการจำลองเสมือนบนระบบ ATM:

  1. ข้อกำหนดข้อแรกคือ “VT-x” บนเมนบอร์ด Intel และ “AMD-V” บนเมนเบอร์ด AMD เนื่องจาก CPU รุ่นที่มีความสามารถฮาร์ดแวร์ดังกล่าวเริ่มเผยแพร่ออกมาในปี 2006 และตู้ ATM รุ่นเก่ากว่านั้นจะไม่สามารถสนับสนุนการจำลองเสมือนโดยไม่ลดประสิทธิภาพการทำงานได้ มีความเป็นไปได้ว่า ATM ที่มีความสามารถเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งหลังปี 2006 เนื่องจากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ATM มักจะใช้สต็อกของ CPU เก่ามาอย่างยาวนาน ดังนั้นช่วงเวลาการเริ่มต้นอาจเป็นหลังปี 2006
  2. ความสามารถของการจำลองเสมือนบน CPU ที่สนับสนุนนั้นสามารถปิดใช้งานในการตั้งค่า BIOS ซึ่งการดำเนินการนี้ต้องมีช่างเทคนิคให้บริการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสำหรับการปรับใช้โซลูชันไฮเปอร์ไวเซอร์ ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ATM บางรายมีเครื่องมือการจัดการ BIOS ที่ใช้งานจากระยะไกลได้ KAL ต้องการแนะนำตัวเลือกนี้เพื่อทดสอบเป็นครั้งแรกกับการกำหนดค่า BIOS จากนั้นเปลี่ยนแปลงการกำหนดค่าจากระยะไกลเพื่อเปิดใช้ระบบจำลองเสมือน ตู้ ATM รุ่นใหม่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีตัวเลือกนี้เปิดใช้งานไว้เรียบร้อยแล้ว
  3. จากนั้น ธนาคารจะต้องเลือกผู้ผลิตไฮเปอร์ไวเซอร์ มีสามบริษัทที่ได้แสดงความสนใจในการสนับสนุนอุตสาหกรรม ATM อย่างชัดเจน ได้แก่ Red Hat, Vmware และ Wind River KAL ได้ทดสอบไฮเปอร์ไวเซอร์จากบริษัททั้งสามแห่งและสามารถยืนยันได้ว่าใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ Microsoft ก็มีไฮเปอร์ไวเซอร์เช่นกัน เรียกว่า Hyper-V ซึ่งเป็นส่วนมาตรฐานของระบบ Windows และสามารถทำงานได้ในทางทฤษฎี แต่มีปัญหาจุดบกพร่องเหมือนกับเป็นตัว Windows เอง เนื่องจากไม่มีซอร์สโค้ดไดรเวอร์สำหรับไดรเวอร์อุปกรณ์ของบุคคลที่สามในระบบ Windows ไดรเวอร์ที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้วย Hyper-V จึงไม่สามารถได้รับการสนับสนุนโดย Microsoft หรือบริษัทอื่นใด
  4. สุดท้าย ธนาคารจะต้องตรวจสอบว่าผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ATM ของตนนั้นจะให้การสนับสนุนแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์และไดรเวอร์ในสภาพแวดล้อมการจำลองเสมือนหรือไม่ ตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ATM คือ KAL ธนาคารจะต้องตรวจสอบว่า KAL จะให้การสนับสนุนสภาพแวดล้อมการจำลองเสมือนหรือไม่ ซึ่งเราให้การสนับสนุนอยู่แล้ว และธนาคารจะต้องตรวจสอบว่าผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ ATM จะให้การสนับสนุน XFS SP ของพวกเขาในสภาพแวดล้อมการจำลองเสมือนด้วย ธนาคารจะต้องระบุการสนับสนุนเทคโนโลยีการจำลองเสมือนไว้ใน RFP ของธนาคารในอนาคตด้วย นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2000 กับ XFS ธนาคารได้บังคับ* ให้มีการสนับสนุน XFS สำหรับผู้ขายทุกรายและเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกของ ATM

*ตัวอย่างที่น่าสนใจในประเทศจีน ในปี 2001 เมื่อ Aravinda Korala ผู้แต่งบทความนี้และ Wenbin Hu จาก KAL ได้นำข่าวของมาตรฐาน XFS ไปสู่ธนาคารจากประเทศจีน ไม่มีใครเคยได้ทราบข่าวนี้มาก่อน Aravinda และ Wenbin ได้โน้มน้าวให้มีการใช้มาตรฐาน XFS ในประเทศจีน ส่งเสริมให้ผู้ผลิตและธนาคารนำมาใช้และทำตลาดแพลตฟอร์ม Kalignite ของ KAL และโปรแกรมจำลอง XFS ในประเทศจีน โปรแกรมจำลอง XFS ถูกคัดลอกอย่างกว้างขวางด้วย (และมักจะไม่ได้รับ) การอนุญาตจากเราและเป็นเครื่องมือในการสร้างเครือข่าย ATM กว่าหนึ่งล้านตู้ ATM ที่รันบนซอฟต์แวร์ที่สอดคล้องมาตรฐาน XFS ของประเทศจีนในปัจจุบัน นี่ไม่เพียงแค่เรื่องราวของประเทศจีนเท่านั้น ธนาคารทั่วโลกเริ่มบังคับใช้มาตรฐาน XFS ตั้งแต่ช่วงปี 2000 และทำให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นข้อกำหนดที่จำเป็นสำหรับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ทั้งหมดที่จะต้องเพิ่มมาตรฐาน XFS ลงในแผนแม่บทของพวกเขา ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นในวันนี้ด้วยการจำลองเสมือนของระบบปฏิบัติการ

พร้อมนำโซลูชันใหม่ไปใช้งานได้เลยใช่หรือไม่

อืม ยังไม่ใช่เสียทีเดียว การเติมเต็มข้อกำหนดเบื้องต้นยังไม่เพียงพอ ธนาคารก็ต้องทำโครงการการปรับใช้งานให้สำเร็จด้วย:

  1. โซลูชันไฮเปอร์ไวเวอร์ใหม่จะต้องได้รับการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าสคริปต์ทดสอบทั้งหมดถูกนำไปใช้เพื่อทดสอบการยอมรับโซลูชันในปัจจุบันว่าจะทำงานต่อได้เมื่อระบบปฏิบัติการถูกจำลองเสมือน
  2. ธนาคารจะต้องตรวจสอบการล็อกระบบความปลอดภัย ATM ของตน สภาพแวดล้อมใหม่จะเปลี่ยนแปลงขอบเขตการรักษาความปลอดภัย ธนาคารจะต้องล็อกไฮเปอร์ไวเซอร์รวมไปถึงสภาพแวดล้อมระบบ Windows
  3. ธนาคารจะต้องตรวจสอบระบบเฝ้าตรวจติดตาม ATM โดยหลักการแล้ว จะต้องเฝ้าตรวจติดตามซอฟต์แวร์ไฮเปอร์ไวเซอร์รวมถึงส่วนที่เหลือของระบบด้วย
  4. ธนาคารจะต้องตรวจสอบกลไกลการกระจายซอฟต์แวร์ ตามหลักการแล้ว การเปลี่ยนแปลงรุ่นควรเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ด้วยการกระจายซอฟต์แวร์จากระยะไกลโดยไม่จำเป็นต้องส่งช่างเทคนิคไปจัดการที่ตู้ ATM ระบบการกระจายซอฟต์แวร์จะต้องสามารนำส่งโปรแกรมปรับปรุงและอัปเดตไปยังซอฟต์แวร์ไฮเปอร์ไวเซอร์รวมถึงระบบ Windows และแอปพลิเคชัน ซึ่งควรทำผ่านทางออนไลน์ (หรือผ่านแผ่น DVD ถ้ามีตัวเลือกนี้)

เมื่อธนาคารเสร็จสิ้นขั้นตอนเหล่านี้แล้ว ก็พร้อมที่จะเผยแพร่ระบบแล้ว

KAL พร้อมแล้วสำหรับวันนี้

กลยุทธ์การสนับสนุนระยะยาว

มีส่วนประกอบซอฟต์แวร์เพิ่มเติมในสแต็กซอฟต์แวร์ ATM ที่ธนาคารจะต้องมีสัญญาการให้บริการในปัจจุบัน ธนาคารจะต้องเพิ่มข้อกำหนดของการสนับสนุนไฮเปอร์ไวเซอร์เข้าไปในสัญญา ต่อไปนี้คือสิ่งที่พวกเขาต้องการจากผู้ผลิตไฮเปอร์ไวเซอร์:

  • การยืนยันว่าจะสนับสนุนฮาร์ดแวร์ ATM ในระยะยาว อย่างน้อย 10 ปี
    การสนับสนุนไดรเวอร์อุปกรณ์เมนบอร์ดภายใต้ระบบ Linux เพื่อให้ไดรเวอร์ซอฟต์แวร์ของบุคคลที่สามภาย
  • ใต้ระบบ Windows สำหรับฮาร์ดแวร์นั้นหยุดเพื่อการบำรุงรักษาด้วย LTSC เวอร์ชันใหม่ได้ ซึ่งสามารถแทนที่โดยใช้ไดรเวอร์โอเพนซอร์ส Linux ผ่านการจำลองเสมือนได้
  • การสนับสนุนชิบเซ็ตของ Intel และ AMD รวมถึงรุ่นเก่าได้มากที่สุดที่ผู้ผลิตไฮเปอร์ไวเซอร์สามารถให้การสนับสนุนตู้ ATM รุ่นเก่าบนเครือข่ายได้
  • การสนับสนุน LTSC จาก Microsoft เมื่อเผยแพร่นั้น จะต้องคำนึงถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับไดรเวอร์ซอฟต์แวร์ที่เป็นไปได้สำหรับฮาร์ดแวร์รุ่นเก่าตามที่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้

ตามหลักการแล้ว อุตสาหกรรม ATM จะต้องมีรุ่นของไฮเปอร์ไวเซอร์สากลรุ่นเดียวจากผู้ผลิตรายหนึ่งเพื่อสนับสนุนรุ่นของเมนบอร์ด ATM ทุกรุ่นทั่วโลกได้

ข้อสรุปและการก้าวไปข้างหน้า

การจำลองเสมือนช่วยแก้ปัญหาสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับผู้ปรับใช้งาน ATM โดยการแบ่งย่อยการเชื่อมโยงระหว่างการอัปเกรดระบบปฏิบัติการ Windows และการอัปเกรดฮาร์ดแวร์แกนหลักของ PC ซึ่งช่วยให้สามารถอัปเกรดระบบปฏิบัติการและฮาร์ดแวร์แยกกันได้ และช่วยขจัดการหยุดชะงักที่สำคัญของเครือข่าย ATM ที่จะเกิดขึ้นเหมือนครั้งที่การหยุดสนับสนุนของ Windows 7 ในปี 2020

ธนาคารแห่งแรกในโลกที่ทดสอบหลักการการจำลองเสมือนร่วมกับ KAL พร้อมกับผู้ผลิตไฮเปอร์ไวเซอร์สองรายคือธนาคารจากสหรัฐอเมริกา ความสามารถในการรันสแต็กซอฟต์แวร์ปัจจุบันของธนาคารในสภาพแวดล้อมจำลองเสมือนแสดไว้ในรายงาน PoC (การพิสูจน์หลักการ) ที่ใช้เวลาดำเนินการสองสามวัน

ธนาคารจากยุโรปแห่งแรกที่ทดสอบหลักการการจำลองเสมือนร่วมกับ KAL คือธนาคาร Česká spořitelna ในสาธารณรัฐเชก Jiří Charousek พึงพอใจกับเทคโนโลยีนี้อย่างรวดเร็วและจัดตั้งการทดสอบเป็นครั้งแรก Jiří กล่าวว่า “เรามีข้อกังวลในความจำเป็นที่จะต้องอัปเกรดฮาร์ดแวร์ของเราหลังจากการอัปเกรดe XP-W7 และเรายินดีอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีการจำลองเสมือนให้ทางเลือกอีกทางสำหรับเรา การจำลองเสมือนบนระบบ ATM เป็นหลักการที่สมเหตุสมผลสำหรับเราเนื่องจากเป็นการสร้างหลักการ Česká ระยะยาวภายในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งการจำลองเสมือนเป็นกลยุทธ์ของเราอยู่แล้วและระบบ ATM เป็นข้อยกเว้น”

หลักการนี้มีประโยชน์สำหรับผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ด้วย พวกเขามักจะซื้อเมนบอร์ดและชิปเซ็ตบ่อยครั้งเป็นจำนวนมาก และมาพบในภายหลังว่าการอัปเกรดระบบปฏิบัติการใหม่ทำให้สต็อกฮาร์ดแวร์เก่าของพวกเขากลายเป็นไร้ค่า เนื่องจากการจำลองเสมือนช่วยทำลายความเชื่อมโยงที่แนบแน่นระหว่าวเมนบอร์ดและระบบปฏิบัติการ KAL เชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ผลิต ATM ด้วย

การจำลองเสมือนของระบบปฏิบัติการให้วิธีการแบบไปข้างหน้าในการขจัดกระบวนการที่ธนาคารจะต้องอัปเกรดกลุ่ม ATM ของพวกเขาเพื่อสนับสนุนระบบปฏิบัติการใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีราคาแพง และใช้เวลา ซึ่งไม่ได้ขจัดความจำเป็นในการอัปเกรดฮาร์ดแวร์อย่างถาวร แต่ขจัดความจำเป็นในการอัปเกรด ATM เพียงเพราะว่ามีการอัปเกรดระบบปฏิบัติการ ธนาคารยังจำเป็นต้องอัปเกรดแกนหลักของ PC ด้วยสาเหตุจากฮาร์ดแวร์ที่เก่าเกินไป หรือทำงานช้าเกินไป หรือเนื่องจากธนาคารต้องการใช้ความสามารถของ CPU รุ่นใหม่ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ธนาคารต่างๆ ยอมรับว่าเป็นเหตุผลที่ดีในการอัปเกรดฮาร์ดแวร์ของพวกเขา

ซึ่งจากนี้ไป สิ่งสำคัญคือธนาคารจะต้องระบุข้อกำหนดของการสนับสนุนระบบจำลองเสมือนลงใน RFP ทั้งหมดของตนสำหรับซอฟต์แวร์ ATM และฮาร์ดแวร์ ATM

ขอขอบคุณ

ผู้คนหลายคนที่มีส่วนร่วมในโครงการนี้และการยืนยันว่าโครงการนี้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง KAL ขอขอบคุณทุกคนอย่างสูงในการช่วยเหลือเราค้นพบโซลูชันนี้

  • ATMIA: Mike Lee
  • Citibank: Peter Kulik
  • Česká: Jiří Charousek
  • Intel: Oania Wei
  • KAL: Kit Patterson, Andrea Vinci, Giuseppe Scardino
  • Microsoft: Pat Telford
  • Payment Redesign: Eric de Putter
  • Red Hat: David Hutchison-Bird, Daniel Schaefer, Rich Feldman
  • VMWare: Thomas Klouwer
  • Wind River: Davide Ricci, Rick Anderson, Kevin Konkos

การติดตามผล

เรายินดีรับฟังข้อคิดเห็น คำถาม และคำติชมจากคุณ เข้าร่วมบล็อกเพื่อการอภิปรายได้ที่ด้านล่าง

ถ้าคุณมีคำถามเกี่ยวกับเอกสารข้อมูลทางเทคนิค โปรดอย่าลังเลที่จะติดต่อเรา